เช เกบารา
เช เกบารา

เช เกบารา

เอร์เนสโต เกบารา (สเปน: Ernesto Guevara, เสียงอ่าน: [eɾˈnesto ɣ̞eˈβ̞aɾa])[# 1] หรือที่รู้จักกันในชื่อ เช (สเปน: Che, เสียงอ่าน: [t͡ʃe]; 14 มิถุนายน[1] ค.ศ. 1928 – 9 ตุลาคม ค.ศ. 1967) เป็นนักปฏิวัติลัทธิมากซ์ นายแพทย์ นักเขียน ผู้นำนักรบกองโจร นักการทูต และนักทฤษฎีการทหารชาวอาร์เจนตินา ในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งจากการปฏิวัติคิวบา ภาพใบหน้าของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ที่พบทั่วไปของวัฒนธรรมต่อต้านและการกบฏ และเป็นตราต้นแบบที่รู้จักกันเป็นสากลภายในวัฒนธรรมสมัยนิยม[7]ครั้งยังเป็นนักศึกษาแพทย์หนุ่ม เกบาราเดินทางไปทั่วทวีปอเมริกาใต้และรู้สึกสะเทือนใจกับความยากจนข้นแค้น ความหิวโหย และโรคภัยที่เขาพบระหว่างทาง[8] ความปรารถนาทำลายล้างสิ่งที่เขามองว่าเป็นการขูดรีดของทุนนิยมในลาตินอเมริกาผลักดันให้เขาเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปสังคมกัวเตมาลาภายใต้รัฐบาลฮาโกโบ กุซมัน แต่สุดท้ายประธานาธิบดีผู้นี้ก็พ้นจากตำแหน่งหลังถูกรัฐประหารซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอ ตามคำร้องขอของบริษัทยูไนเต็ดฟรูต นั่นทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเกบาราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น[8] ต่อมา ขณะอาศัยอยู่ในกรุงเม็กซิโกซิตี เขาพบกับราอุลและฟีเดล กัสโตร เข้าร่วมขบวนการ 26 กรกฎาคม และออกเดินทางสู่คิวบาโดยใช้เรือยนต์ขนาดเล็กชื่อ กรันมา ด้วยจุดประสงค์ขับไล่ผู้เผด็จการฟุลเคนเซียว บาติสตาซึ่งสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่[9] ไม่ช้าเกบาราก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในกองกำลังกบฏดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บัญชาการ และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการทัพกองโจรซึ่งสามารถล้มระบอบบาติสตาได้สำเร็จภายในเวลาสองปี[10]หลังการปฏิวัติคิวบา เกบารามีบทบาทสำคัญหลายอย่างในรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมพิจารณาคดีในศาลปฏิวัติ และพิพากษาให้ผู้ต้องโทษอาชญากรสงครามถูกยิงเป้าโดยชุดยิง[11] ริเริ่มการปฏิรูปที่ดินการเกษตรในฐานะรัฐมนตรีอุตสาหกรรม เป็นหัวหอกการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือทั่วประเทศซึ่งประสบผลสำเร็จ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติและผู้อำนวยการฝึกสอนให้แก่กองทัพคิวบา และเดินทางไปทั่วโลกในฐานะผู้แทนทางทูตจากสังคมนิยมคิวบา ตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวยังทำให้เขามีหน้าที่หลักในการฝึกสอนกองกำลังอาสาสมัครซึ่งสามารถขับไล่ผู้บุกครองอ่าวหมูออกไปได้[12] และชักนำให้สหภาพโซเวียตเข้ามาติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบาซึ่งกระตุ้นให้เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธใน ค.ศ. 1962[13] นอกจากนี้ เขายังเป็นนักจดบันทึกและนักเขียนที่ผลิตผลงานออกมาจำนวนมาก โดยเขียนคู่มือปฏิบัติการรบแบบกองโจรซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเหตุการณ์ภายหน้า ร่วมกับบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเดินทางไปทั่วทวีปด้วยจักรยานยนต์ในวัยหนุ่มของเขา ประสบการณ์ชีวิตและความรู้เกี่ยวกับลัทธิมากซ์-เลนินนำพาให้เขาสรุปว่าความด้อยพัฒนาและการตกอยู่ในภาวะพึ่งพาของโลกที่สามเป็นผลที่แท้จริงจากจักรวรรดินิยม ลัทธิอาณานิคมแนวใหม่ และทุนนิยมผูกขาด ทางเยียวยามีเพียงทางเดียวคือการใช้แนวคิดสากลนิยมของชั้นชนกรรมาชีพและการปฏิวัติโลก[14][15] เกบาราออกจากคิวบาใน ค.ศ. 1965 เพื่อก่อการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่น ครั้งแรกในคองโก-กินชาซาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และครั้งต่อมาในโบลิเวีย ที่นี่เขาถูกกองทัพโบลิเวียซึ่งมีซีไอเอสนับสนุนอยู่จับ และถูกประหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม[16]เกบาราเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับทั้งเสียงยกย่องและเสียงประณาม มุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเขาได้รับการรวบรวมไว้ในจินตนาการร่วมในรูปของสื่อจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือชีวประวัติ บันทึกความทรงจำ ความเรียง สารคดี เพลง หรือภาพยนตร์ เนื่องจากการยอมสละชีพเพื่อความเชื่อของเขา การปลุกเร้าด้วยบทกวีเพื่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้น และความปรารถนาที่จะสร้างความสำนึกของการเป็น "คนใหม่" ซึ่งขับเคลื่อนด้วยจริยธรรมแทนที่จะเป็นสิ่งจูงใจทางวัตถุ เกบาราจึงกลายมาเป็นบุคคลสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบของขบวนการทางการเมืองต่าง ๆ ที่นิยมฝ่ายซ้าย เขาได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20[17] ส่วนภาพถ่ายของเขาที่มีชื่อว่า นักรบกองโจรผู้เป็นวีรบุรุษ (Guerrillero Heroico) และถ่ายโดยอัลเบร์โต กอร์ดา ก็ได้รับการยกย่องจากสถาบันวิทยาลัยศิลปะแมริแลนด์ว่าเป็น "ภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก"[18]

เช เกบารา

สุสาน สุสานเช เกบารา ซานตากลารา ประเทศคิวบา
องค์การ ขบวนการ 26 กรกฎาคม, สหพรรคการปฏิวัติสังคมนิยมคิวบา,[2] กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ (โบลิเวีย)
คู่สมรส อิลดา กาเดอา (ค.ศ. 1955–1959)
อาเลย์ดา มาร์ช (ค.ศ. 1959–1967 จนเสียชีวิต)
บุตร อิลดา (ค.ศ. 1956–1995), อาเลย์ดา (เกิด ค.ศ. 1960), กามีโล (เกิด ค.ศ. 1962), เซเลีย (เกิด ค.ศ. 1963), เอร์เนสโต (เกิด ค.ศ. 1965)
เกิด เอร์เนสโต เกบารา
14 มิถุนายน ค.ศ. 1928(1928-06-14)[1]
โรซารีโอ รัฐซานตาเฟ ประเทศอาร์เจนตินา
บิดามารดา เอร์เนสโต เกบารา ลินช์[6]
เซเลีย เด ลา เซร์นา[6]
เสียชีวิต 9 ตุลาคม ค.ศ. 1967 (39 ปี)
ลาอีเกรา จังหวัดบาเยกรันเด ประเทศโบลิเวีย
ศาสนา ไม่มี (มนุษยนิยมลัทธิมากซ์)[3][4][5]